ปัจจัย 5 อย่าง ของ ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้งห้า

  • ความเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) โดยเป็นพิสัยระหว่างการทำอะไรแปลกใหม่-ความอยากรู้อยากเห็น กับความสม่ำเสมอ-ความระมัดระวัง เป็นการหยั่งรู้คุณค่าของศิลปะ ความเปิดรับอารมณ์ต่าง ๆ การผจญภัย ความคิดที่แปลก ๆ ความอยากรู้อยากเห็น และความเปิดรับประสบการณ์ต่าง ๆ ความเปิดรับเป็นตัวสะท้อนปัญญาที่อยากรู้อยากเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และความชอบใจต่อทั้งสิ่งใหม่ ๆ ต่อทั้งความหลายหลากที่บุคคลนั้นมี นอกจากนั้น ยังกล่าวได้ว่าเป็นระดับที่บุคคลนั้นมีจินตนาการและเป็นตัวของตัวเอง และที่แสดงความชอบใจต่อกิจกรรมที่หลากหลายมากกว่าการทำอะไรเป็นประจำอย่างเคร่งครัด แต่ว่า ถ้ามีระดับความเปิดรับสูง ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นคนเอาแน่อะไรไม่ได้ หรือไร้เป้าหมาย และอาจจะพยายามเข้าถึงศักยภาพของตน (self-actualization) โดยหาประสบการณ์แบบสุด ๆ ที่ให้ความคลึ้มใจความตื่นเต้น เช่น กระโดดร่มชูชีพจากเครื่องบิน ไปอยู่ต่างประเทศ เล่นการพนัน และอื่น ๆ ในนัยตรงกันข้าม คนที่เปิดรับน้อยจะพยายามทำชีวิตให้สมบูรณ์โดยความบากบั่นอุตสาหะ มีนิสัยที่ชอบทำชอบปฏิบัติและทำตามข้อมูลที่มีโดยไม่คิดมาก บางครั้งอาจมองได้ว่าเป็นคนหัวรั้นและปิดใจ แต่ก็มีสิ่งที่ตกลงกันไม่ได้ว่า ควรจะตีความหมายและควรจะอธิบายปัจจัยนี้ให้เข้ากับบริบทต่าง ๆ ได้อย่างไร
  • ความพิถีพิถัน (conscientiousness) โดยเป็นพิสัยระหว่างความมีประสิทธิภาพ-ความเป็นคนมีระเบียบ กับความเป็นคนสบาย ๆ-ความเป็นคนไร้กังวล เป็นความโน้มเอียงที่จะเป็นคนเจ้าระเบียบที่เชื่อถือได้ มีวินัยในตน ทำตามหน้าที่ ตั้งเป้าหมายเพื่อความสำเร็จ และชอบใจพฤติกรรมตามแผนมากกว่าจะทำอะไรแบบทันทีทันใด แต่คนที่มีลักษณะเช่นนี้สูงอาจจะมองได้ว่าเป็นคนดื้อและหมกมุ่น และคนที่มีลักษณะเช่นนี้ต่ำแม้จะยืดหยุ่นได้และทำอะไรได้โดยไม่ต้องคิด แต่ก็อาจมองได้ว่าเป็นคนไม่เอาใจใส่และเชื่อถือไม่ได้[6]
  • ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) โดยเป็นพิสัยระหว่างคนเปิดรับสังคม-คนกระตือรือร้น กับคนชอบอยู่คนเดียว-คนสงวนท่าที เป็นพลัง อารมณ์เชิงบวก surgency ความมั่นใจในตน ความชอบเข้าสังคม และความโน้มเอียงที่จะสืบหาสิ่งเร้าร่วมกับผู้อื่น และชอบพูด คนที่มีลักษณะนี้สูงอาจมองได้ว่าเรียกร้องความสนใจและเผด็จการ ลักษณะนี้ต่ำทำให้มีบุคลิกภาพเป็นคนสงวนท่าที ช่างไตร่ตรอง ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นคนหยิ่ง หรือคิดถึงแต่ตน[6]
  • ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness) โดยเป็นพิสัยระหว่างความเป็นมิตร-เห็นอกเห็นใจผู้อื่น กับความเป็นคนช่างวิเคราะห์-ไม่ค่อยยุ่งกับผู้อื่น เป็นความโน้มเอียงที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและร่วมมือกับผู้อื่น แทนที่จะระแวงและตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้อื่น เป็นระดับที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อใจผู้อื่นและความต้องการช่วยผู้อื่น และความอารมณ์ดีตามปกติ แต่ลักษณะเช่นนี้ในระดับสูงมองได้ว่า เป็นคนซื่อ ๆ หรือยอมคนอื่น และลักษณะเช่นนี้ในระดับต่ำมองได้ว่าชอบแข่งหรือท้าท้ายผู้อื่น และว่าชอบเถียงหรือเชื่อใจไม่ได้[6]
  • ความไม่เสถียรทางอารมณ์ (neuroticism) โดยเป็นพิสัยระหว่างความอ่อนไหว-ความกังวลใจ กับความไร้กังวล-ความมั่นใจ เป็นความโน้มเอียงที่จะประสบกับอารมณ์เชิงลบได้ง่าย เช่นความโกรธ ความวิตกกังวล ความเศร้าซึม และความรู้สึกอ่อนแอ เป็นคำที่อาจหมายถึงระดับความเสถียรทางอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ชั่ววูบได้ ซึ่งอาจจะเรียกโดยคำตรงกันข้ามคือ ความเสถียรทางอารมณ์ (emotional stability) คนที่อารมณ์เสถียรจะปรากฏเป็นคนนิ่ง ๆ และสม่ำเสมอ แต่ก็อาจมองได้ว่าเป็นคนที่ไม่สร้างกำลังใจหรือไม่ค่อยสนใจ ส่วนคนที่มีอารมณ์ไม่เสถียรอาจจะไวปฏิกิริยาและขี้ตื่น บ่อยครั้งมีพลังแบบอยู่นิ่งไม่ได้ แต่ก็อาจมองได้ว่าเป็นคนอารมณ์ไม่เสถียรและไม่มั่นใจในตน[6]

คนที่อยู่ในช่วงกลาง ๆ ของลักษณะทั้ง 5 อย่าง อาจเป็นคนที่ยืดหยุ่นปรับสภาพได้ เป็นคนกลาง ๆ และมีบุคลิกภาพที่พอดี ๆ แต่ก็อาจจะมองได้ว่า เป็นคนไม่มีหลักการ เข้าใจได้ยาก หรือคิดแต่ทางได้ทางเสีย[6]

มีนักวิจัยหลายพวกที่ตั้งแบบจำลองนี้ได้โดยต่างหาก ๆ[7]เริ่มจากการศึกษาลักษณะบุคลิกภาพที่รู้ แล้ววิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) ค่าวัดลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นร้อย ๆ (จากข้อมูลที่ได้จากคำถามที่ผู้ร่วมการทดลองแจ้งเอง จากการให้คะแนนของคนในสถานะเดียวกัน และจากการวัดที่เป็นกลาง ๆ ในการทดลอง) เพื่อที่จะหาปัจจัยมูลฐานของบุคลิกภาพ[8][9][10][11][12]งานปี 2009 ได้ใช้แบบจำลองนี้เพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและพฤติกรรมเกี่ยวกับการศึกษา[13]

นักวิชาการของกองทัพอากาศสหรัฐเสนอแบบจำลองเบื้องต้นในปี 1961[11]แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักต่อนักวิชาการในสถาบันวิจัยต่าง ๆ จนกระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษ 1980ในปี 1990 ศ.ดิกแมนเสนอแบบจำลองบุคลิกภาพมีปัจจัย 5 อย่างซึ่งต่อมาในปี 1993 ศ.ลิวอิส โกลด์เบอร์กได้ใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดในแบบจำลอง[14]นักวิจัยพบว่า ปัจจัย 5 อย่างนี้ครอบคลุมบุคลิกภาพอื่น ๆ ที่รู้จักโดยมาก และเชื่อว่า เป็นโครงสร้างพื้นฐานของลักษณะบุคลิกภาพทั้งหมด[15]เป็นโครงสร้างที่สมบูรณ์พอที่จะรวมข้อมูลที่ค้นพบและทฤษฎีเกี่ยวกับจิตวิทยาบุคลิกภาพทั้งหมด

มีกลุ่มนักวิจัยอย่างน้อย 4 กลุ่มที่ทำงานต่างหากจากกันเป็นทศวรรษ ๆ ในประเด็นปัญหานี้ แล้วโดยทั่ว ๆ ไป ก็สรุปลงที่ปัจจัย 5 อย่างเหล่านี้โดยมีนักวิชาการกองทัพอากาศเป็นกลุ่มแรก ตามมาด้วย ศ.โกลด์เบอร์ก[16][17][18][19][20]ศ.แค็ตเทลล์ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์[10][21][22][23]และ ดร.คอสตาและแม็คเครที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ[24][25][26][27]แม้ว่ากลุ่มนักวิจัยทั้ง 4 นี้จะใช้วิธีต่างกันเพื่อค้นหาลักษณะทั้ง 5 อย่าง และดังนั้นจึงได้ให้ชื่อต่างกันและมีนิยามต่างกัน แต่ว่า ทั้งหมดสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีและลงตัวกันทางการวิเคราะห์ปัจจัย[28][29][30][31][32]แต่ว่า มีงานศึกษาที่แสดงว่า ลักษณะใหญ่ 5 อย่างนี้ ไม่มีกำลังในการพยากรณ์และอธิบายพฤติกรรมในชีวิตจริงได้ เท่ากับลักษณะย่อย ๆ (facet) ของลักษณะใหญ่เหล่านี้[33][34]

ปัจจัยแต่ละอย่างมี aspect ทางบุคลิกภาพที่สัมพันธ์กัน 2 อย่างภายใน ที่อยู่เหนือ facet ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนของแบบจำลองนี้[35]โดยที่ aspect มีชื่อดังต่อไปนี้[35]

  • Neuroticism - Volatility (ความเปลี่ยนแปลงง่าย) และ Withdrawal (การถอนตัวจากสังคม)
  • ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) : Enthusiasm (ความกระตือรือร้น) และ Assertiveness (ความมั่นใจในตน)
  • ความเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) : Intellect (ปัญญา) และ Openness (ความเปิดรับ)
  • ความพิถีพิถัน (conscientiousness) : Industriousness (ความอุตสาหะ) และ Orderliness (ความมีระเบียบ)
  • ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness) : Compassion (ความเห็นใจผู้อื่น) และ Politeness (ความสุภาพ)

ความเปิดรับประสบการณ์

ความเปิดรับประสบการณ์(อังกฤษ: openness to experience) โดยทั่วไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหยั่งรู้คุณค่าและความยินดีชอบใจในศิลปะ การได้อารมณ์ต่าง ๆ การผจญภัย ไอเดียที่แปลกใหม่ จินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็น และประสบการณ์ต่าง ๆคนที่เปิดรับประสบการณ์จะเป็นคนอยากรู้อยากเห็นแบบมีสติปัญญา เปิดรับอารมณ์ ไวต่อสุนทรียภาพ และยินดีที่จะลองสิ่งใหม่ ๆและเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ปิด มักจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า เข้าใจความรู้สึกตัวเองมากกว่า และมีโอกาสที่จะมีความเชื่อที่ไม่ทั่วไป

แต่ว่าบางคนแม้จะมีลักษณะนี้โดยทั่วไปในระดับสูง และอาจสนใจเรียนรู้และสำรวจวัฒนธรรมใหม่ ๆ แต่จะไม่สนใจศิลปะหรือกวีนิพนธ์มากนักงานวิจัยพบว่า ความเปิดรับประสบการณ์สัมพันธ์อย่างมีกำลังกับจริยธรรมแบบเสรีนิยม (liberal ethics) เช่น การสนับสนุนนโยบายยอมรับความต่างทางผิวพรรณ[36]

ลักษณะอีกอย่างของไสตล์การคิดแบบเปิดก็คือ ความสามารถในการคิดเป็นสัญลักษณ์เป็นนามธรรมที่ห่างจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมมากผู้ที่มีคะแนนต่ำในเรื่องนี้มักจะสนใจในสิ่งที่ธรรมดา ที่เป็นเรื่องตามประเพณีและชอบสิ่งที่ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา เห็นได้ชัด มากกว่าสิ่งที่ซับซ้อน คลุมเครือ หรือละเอียดเห็นได้ยากและอาจจะเห็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องน่าสงสัย หรือเห็นว่าไม่น่าสนใจคนที่ไม่เปิดจะชอบใจสิ่งที่คุ้นเคยมากกว่าสิ่งใหม่ ๆ และเป็นคนอนุรักษนิยม และไม่ชอบที่จะเปลี่ยน[26]

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันรู้จักใช้คำศัพท์ต่าง ๆ มาก (I have a rich vocabulary)
  • ฉันเป็นคนมีจินตนาการชัดแจ้ง (I have a vivid imagination)
  • ฉันมีไอเดียต่าง ๆ ที่ดีมาก (I have excellent ideas)
  • ฉันเข้าใจอะไรได้ง่าย (I am quick to understand things)
  • ฉันใช้คำศัพท์ที่ยาก (I use difficult words)
  • ฉันเต็มไปด้วยไอเดีย (I am full of ideas)
  • ฉันไม่สนใจเรื่องที่เป็นนามธรรม (I am not interested in abstractions) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่มีจินตนาการที่ดี (I do not have a good imagination) - แบบตรงข้าม
  • ฉันมีปัญหาเข้าใจเรื่องที่เป็นนามธรรม (I have difficulty understanding abstract ideas) - แบบตรงข้าม[28]

ความพิถีพิถัน

ความพิถีพิถัน(conscientiousness) เป็นความโน้มเอียงที่จะมีวินัย ทำตามหน้าที่ และตั้งเป้าหมายความสำเร็จโดยมีเกณฑ์ หรือโดยเทียบกับที่คนอื่นคาดหวังเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับวิธีที่บุคคลควบคุม ปรับระดับ และจัดการอารมณ์ชั่ววูบหรือความหุนหันพลันแล่นบุคคลที่มีคะแนนในเรื่องนี้สูงบ่งชี้ความชอบใจพฤติกรรมที่วางแผนไว้ไม่ใช่พฤติกรรมที่ทำแบบทันทีทันใด[37]และโดยเฉลี่ยแล้ว ระดับความพิถีพิถันจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวัยต้นผู้ใหญ่ แล้วจะลดลงเมื่อสูงวัยขึ้น[38]

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันเตรียมพร้อมอยู่เสมอ (I am always prepared)
  • ฉันให้ความสนใจกับรายระเอียด (I pay attention to details)
  • ฉันจะทำงานบ้านงานหยุมหยิมให้เสร็จก่อน (I get chores done right away)
  • ฉันชอบความเป็นระเบียบ (I like order)
  • ฉันทำอะไรตามตาราง (I follow a schedule)
  • ฉันชอบทำอะไรเป๊ะ ๆ มาก (I am exacting in my work)
  • ฉันทิ้งของ ๆ ฉันไว้เรี่ยราด (I leave my belongings around) - แบบตรงข้าม
  • ฉันทำอะไรเละเทะ (I make a mess of things) - แบบตรงข้าม
  • ฉันมักจะลืมเก็บของเข้าที่บ่อย ๆ (I often forget to put things back in their proper place) - แบบตรงข้าม
  • ฉันหลบหน้าที่ (I shirk my duties) - แบบตรงข้าม[28]

ความสนใจต่อสิ่งภายนอก

ความสนใจต่อสิ่งภายนอก(extraversion) มีลักษณะเป็นการชอบความหลายหลากของกิจกรรม (เทียบกับการทำอะไรให้ลึกซึ้ง) surgency (คือความโน้มเอียงเพื่อจะได้ความยินดีความพอใจ) ที่มาจากสถานการณ์หรือกิจกรรมภายนอก และการได้พลังและแรงจูงใจจากภายนอก[39]ลักษณะนี้ ชัดเจนตรงที่การทำกิจกรรมพัวพันกับโลกภายนอกคนเช่นนี้ชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมักจะมองว่าเป็นคนมีพลังมากมักจะเป็นคนกระตือรือร้น และชอบทำมากกว่าชอบคิดมักจะเป็นคนเด่นในกลุ่ม ชอบพูดคุย และแสดงตัวเอง[40]

ในนัยตรงกันข้าม คนที่สนใจต่อสิ่งภายใน ชอบทำกิจกรรมทางสังคมและมีพลังน้อยกว่าคนที่สนใจต่อสิ่งภายนอกโดยดูจะเป็นคนเงียบ ๆ ไม่เด่น รอบคอบระมัดระวัง และเกี่ยวข้องกับสังคมน้อยกว่าแต่ความไม่เกี่ยวข้องทางสังคมไม่ควรตีความว่า เป็นเพราะความอายหรือเกิดจากความเศร้าซึมเพราะว่า เป็นคนที่สามารถอยู่เป็นอิสระจากสังคมได้ดีกว่าคนสนใจภายนอกคือ คนพวกนี้ต้องการสิ่งเร้าน้อยกว่า และต้องการเวลาเป็นของตัวเองมากกว่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่เป็นกันเองหรือต่อต้านสังคม อาจเพียงแต่เป็นคนที่สงวนท่าทีมากกว่าในวงสังคม[41]

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันเป็นคนสนุกในงานปาร์ตี้ (I am the life of the party)
  • ฉันไม่ขัดข้องในการเป็นศูนย์ความสนใจ (I don't mind being the center of attention)
  • ฉันรู้สึกสบายอยู่กับคนอื่น ๆ (I feel comfortable around people)
  • ฉันเป็นคนเริ่มคุย (I start conversations)
  • ฉันคุยกับคนหลายหลากมากมายในงานปาร์ตี้ (I talk to a lot of different people at parties)
  • ฉันไม่คุยมาก (I don't talk a lot) - แบบตรงข้าม
  • ฉันคิดเยอะก่อนที่จะพูดหรือทำ (I think a lot before I speak or act) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่ชอบดึงความสนใจมาที่ตัวเอง (I don't like to draw attention to myself) - แบบตรงข้าม
  • ฉันมักจะเงียบถ้ามีคนแปลกหน้า (I am quiet around strangers) - แบบตรงข้าม[28]
  • ฉันไม่สนใจที่จะเป็นคนคุยในหมู่คน (I have no intention of talking in large crowds.) - แบบตรงข้าม

ความยินยอมเห็นใจ

ความยินยอมเห็นใจ(agreeableness) สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในการให้ความสนใจต่อความกลมกลืนกันทางสังคมบุคคลเช่นนี้ให้คุณค่ากับการเข้ากับผู้อื่นได้มักจะเป็นคนที่เกรงใจผู้อื่น ใจดี ใจกว้าง เชื่อใจผู้อื่น เชื่อใจได้ ขนขวายช่วยเหลือผู้อื่น และยอมที่จะประนีประนอมประโยชน์และเรื่องที่ตนสนใจเพื่อที่จะเข้ากับผู้อื่น[41]บุคคลเช่นนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ดี

ส่วนบุคคลตรงกันข้ามให้ความสำคัญต่อประโยชน์หรือความสนใจของตนเหนือกว่าการเข้ากับผู้อื่นได้มักจะไม่สนใจความเป็นสุขของผู้อื่น และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นบางครั้ง ความไม่มั่นใจถึงเจตนาของผู้อื่นทำให้บุคคลนี้ขี้ระแวง ไม่เป็นมิตร และไม่ร่วมมือ[42]

เพราะว่าการยินยอมเห็นใจผู้อื่นเป็นลักษณะทางสังคม งานวิจัยแสดงว่ามันมีสหสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณภาพความสัมพันธ์กับคนในทีมของตนและสามารถใช้พยากรณ์ทักษะความเป็นผู้นำบางอย่างได้ (เช่น transformational leadership ที่ผู้นำร่วมมือกับลูกน้องเพื่อกำหนดสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยน สร้างวิสัยทัศน์เป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงโดยเป็นแรงดลใจ แล้วผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับลูกน้องผู้ตกลงที่จะร่วมมือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น)ในงานศึกษากับผู้ร่วมการทดลอง 169 คนที่เป็นหัวหน้าในอาชีพต่าง ๆผู้ร่วมการทดลองทำข้อทดสอบบุคลิกภาพ แล้วให้ลูกน้องที่ตนคุมโดยตรงสองคนประเมินความเป็นผู้นำผู้นำที่ยินยอมเห็นใจผู้อื่นในระดับสูง มีโอกาสสูงกว่าที่ลูกน้องจะมองว่าเป็นผู้นำประเภท transformational มากกว่าประเภท transactional (ผู้เพ่งความสนใจไปที่การควบคุม การจัดองค์การ และผลงานของกลุ่ม เป็นสไตล์ผู้นำที่โปรโหมตให้ลูกน้องทำตามคำของตนโดยใช้ทั้งรางวัลและการลงโทษ)แม้ว่าค่าความสัมพันธ์จะไม่สูง (r=0.32, β=0.28, p<0.01) แต่ก็มีค่าสูงสุดในบรรดาลักษณะใหญ่ทั้ง 5 อย่าง แต่ว่า งานวิจัยเดียวกันแสดงว่าลักษณะไม่สามารถใช้พยากรณ์ประสิทธิภาพของความเป็นผู้นำที่ประเมินโดยหัวหน้างานโดยตรงของผู้นำ[43]นอกจากนั้นแล้ว การยินยอมเห็นใจผู้อื่น มีความสัมพันธ์เชิงลบกับผู้นำทหารคืองานวิจัยกับหน่วยทหารในเอเชียพบว่า ผู้นำที่ยินยอมเห็นใจผู้อื่นมีโอกาสสูงกว่าที่จะได้คะแนนต่ำสำหรับทักษะความเป็นผู้นำแบบ transformational[44]และดังนั้น งานวิจัยต่อไปอนาคตอาจจะให้องค์กรต่าง ๆ สามารถกำหนดศักยภาพของบุคคล โดยอาศัยลักษณะบุคลิกภาพได้

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันสนใจผู้อื่น (I am interested in people)
  • ฉันเห็นใจความรู้สึกของผู้อื่น (I sympathize with others' feelings)
  • ฉันเป็นคนใจอ่อน (I have a soft heart)
  • ฉันให้เวลากับผู้อื่น (I take time out for others)
  • ฉันรู้สึกถึงอารมณ์ของผู้อื่น (I feel others' emotions)
  • ฉันทำให้คนรู้สึกสบายใจ (I make people feel at ease)
  • ฉันไม่ค่อยสนใจผู้อื่น (I am not really interested in others) - แบบตรงข้าม
  • ฉันพูดดูหมิ่นผู้อื่น (I insult people) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่สนใจปัญหาของผู้อื่น (I am not interested in other people's problems) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่ค่อยรู้สึกเป็นห่วงผู้อื่น (I feel little concern for others) - แบบตรงข้าม

ความไม่เสถียรทางอารมณ์

Neuroticism เป็นความโน้มเอียงที่จะประสบอารมณ์เชิงลบ เช่น ความโกรธ ความวิตกกังวล หรือความซึมเศร้า[45]ซึ่งบางครั้งเรียกว่าความไม่เสถียรทางอารมณ์ (emotional instability) หรืออาจจะเรียกกลับกันว่า ความเสถียรทางอารมณ์ตามทฤษฎีปี 1967 ของ ศ.จิตวิทยาทรงอิทธิพล ดร. ไอเซ็งก์ neuroticism สัมพันธ์กับความอดทนต่อความเครียดและสิ่งเร้าที่ไม่น่าชอบใจต่ำ[46]คือคนที่ได้คะแนนสูงในลักษณะนี้ มีอารมณ์ไวและเสี่ยงต่อความเครียดมีโอกาสสูงกว่าที่จะเห็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาว่าเป็นภัย และความขัดข้องใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเป็นเรื่องยากถึงให้สิ้นหวังและปฏิกิริยาเชิงลบของคนเหล่านี้มักจะคงอยู่เป็นเวลายาวนานกว่าปกติ ซึ่งก็หมายความว่ามักจะมีอารมณ์ไม่ดียกตัวอย่างเช่น neuroticism สัมพันธ์กับการมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับการงาน ความมั่นใจว่างานเป็นตัวขัดขวางความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น และความวิตกกังวลเกี่ยวกับงาน[47]นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีคะแนนสูงในเรื่องนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของการนำไฟที่ผิวหนัง (skin conductance) ที่ไวกว่าคนที่มีคะแนนต่ำกว่า[46][48](ซึ่งเป็นตัวชี้ความไวอารมณ์)ปัญหาในการควบคุมอารมณ์เหล่านี้อาจจะทำให้ไม่สามารถคิด ตัดสินใจ หรือจัดการกับความเครียดได้ดี[ต้องการอ้างอิง]ความไม่พอใจในความสำเร็จในชีวิตของตนเอง อาจจะสัมพันธ์กับคะแนนที่สูงในเรื่องนี้ และอาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิดโรคซึมเศร้า[49]นอกจากนั้นแล้ว คนที่มีลักษณะนี้สูงมักจะมีประสบเหตุการณ์เชิงลบในชีวิตมากกว่า เช่น ความไม่สำเร็จทางการงาน การหย่าร้าง และความตาย[45][50]แต่ว่าระดับของลักษณะนี้ก็สามารถเปลี่ยนได้โดยเป็นการตอบสนองต่อประสบการณ์เชิงบวกและลบในชีวิต[45][50]

ส่วนในทางตรงกันข้าม คนที่มีคะแนนต่ำในเรื่องนี้ไม่หัวเสียง่าย ๆ และอารมณ์ไม่ไวเป็นคนมักจะนิ่ง ๆ มีอารมณ์เสถียร และปราศจากความรู้สึกเชิงลบที่ทนอยู่นาน ๆแต่ว่าการปราศจากอารมณ์เชิงลบไม่ได้หมายความว่าจะประสบกับอารมณ์เชิงบวกมากด้วย[51]

Neuroticism คล้ายกับแต่ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับโรคประสาท (neurosis)และนักจิตวิทยาบางพวกชอบเรียก neuroticism ว่า "ความเสถียรทางอารมณ์" (emotional stability) เพื่อจะทำให้แตกต่างจากคำว่า "neurotic" ที่ใช้ในอาชีพ

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันอารมณ์เสียง่าย (I am easily disturbed)
  • อารมณ์ฉันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา (I change my mood a lot)
  • ฉันหงุดหงิดง่าย (I get irritated easily)
  • ฉันเครียดง่าย (I get stressed out easily)
  • ฉันรำคาญง่าย (I get upset easily)
  • อารมณ์ฉันกลับไปกลับมาบ่อย (I have frequent mood swings)
  • ฉันกังวลกับเรื่องต่าง ๆ (I worry about things)
  • ฉันวิตกกังวลมากกว่าคนอื่น ๆ (I am much more anxious than most people)[52]
  • ฉันรู้สึกสบาย ๆ โดยมาก (I am relaxed most of the time) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่ค่อยซึมเศร้า (I seldom feel blue) - แบบตรงข้าม[28]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้งห้า http://50.22.92.12/index.php/ibm/article/view/j.ib... http://individual.utoronto.ca/jacobhirsh/publicati... http://find.galegroup.com/gic/infomark.do? http://ic.galegroup.com/ic/suic/NewsDetailsPage/Ne... http://www.personality-and-aptitude-career-tests.c... http://asm.sagepub.com/cgi/content/abstract/9/2/18... http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S... http://www.subjectpool.com/ed_teach/y4person/1_int... http://www.workingresources.com/nss-folder/pdffold... http://apsychoserver.psych.arizona.edu/jjbareprint...